Suzuki Jimny โฉมใหม่ SUV ไซส์เล็กจ่อขายในไทย

0

เมื่อเร็วๆนี้ ซูซูกิ (Suzuki) ญี่ปุ่น เปิดตัวรถมินิเอสยูวี ออฟโรดขนาดเล็กที่สร้างชื่อเสียงให้ค่ายซูซูกิมาอย่างยาวนานในชื่อ ซูซูกิ จิมนี  (Suzuki Jimny) รถรุ่นนี้เป็นที่จับตามองของสาวกซูซูกิ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเป็นอย่างมาก ขณะที่แฟนๆซูซูกิในบ้านเราเรียกร้องให้ ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) นำรถรุ่นนี้มาเปิดตลาดในประเทศไทยบ้าง เมื่อโยนหินถามทางหรือโฟกัสถึงความเป็นไปได้แล้วพบว่ามีโอกาสได้เห็นในโชว์รูมไทยมีสูง

สำหรับ ซูซูกิ จิมนี โฉมนี้ นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 หลังจากที่ซูซูกิ จิมนี  ออกสู่ตลาดรุ่นแรกเปิดตัวในปีค.ศ 1970 รุ่นที่ 2 : SJ30 เปิดตัว ปีค.ศ 1981 รุ่นที่ 3 : JB23 เปิดตัวในปีค.ศ 1998 และล่าสุด All NEW Jimny รุ่นที่ 4 เปิดตัวที่ญี่ปุ่น 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ปัจจุบันมียอดขายสะสมกว่า 2.85 ล้านคัน มาถึงรุ่นนี้ซูซูกิได้เติมเต็มความสวยงาม สมรรถนะการขับขี่ รวมไปถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่มีมาให้ครบครัน

ซูซูกิ จิมนี โฉมนี้ มี 2 รุ่นให้เลือกนั่นคือรุ่น จิมนี่ (Jimny) และ จิมนี่ เซียร่า (Jimny Sierra)  ภายนอกของ จิมนี่  และ จิมนี่ เซียร่า โดดเด่นด้วยไฟหน้าทรงกลมแบบ Projector รับกับกระจังหน้าแนวตั้งสีดำ 5 ช่อง พร้อมไฟดวงเล็ก รับกับกันชนหน้าทรงเหลี่ยมสันสีดำ ด้านหลัง ติดตั้งยางอะไหล่ห้อยท้าย ล้อและยางมีให้ลือกทั้งขนาด 16 นิ้ว แบบอัลลอย และ ล้อเหล็ก พร้อมยาง 175/80 R16 ในรุ่น Jimny และอัลลอยขนาด 15 นิ้วพร้อมยาง 195/80 R15 เด่นด้วยโป่งล้อสีดำดีไซน์เข้ม ในรุ่น Jimny Sierra

ภายในเข้มด้วย แผงประตูเข้ารูปดีไซน์แกร่ง ลงตัวด้วยแผงคอนโซลหน้าสุดเข้มผสมผสานความเป็นปัจจุบันและอดีตเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะมาตรวัดความเร็วกับเครื่องยนต์ทรงกลมในกรอบเหลี่ยม คล้ายกับ Suzuki Jimny เจนสอง รหัส SJ30 พรั่งพร้อมด้วยระบบความบันเทิง infotainment ด้วยจอสัมผัส Smartplay ขนาดใหญ่ 7 นิ้ว แผงสวิตช์แอร์ทรงกลมและสี่เหลี่ยม และพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นสามก้านทรงสปอร์ต ปุ่ม Push Start และสบายด้วยห้องโดยสารกว้าง 4 ที่นั่ง สามารถพับเบาะหลังได้แบบ 50/50 เพื่อเพิ่มพื้นที่สัมภาระ

จิมนี่   และ จิมนี่ เซียร่า    มีความยาว ตั้งแต่ความยาว 3,395 มม. ความกว้าง 1,475 มม. ความสูง 1,725 ความสูงจากใต้ท้องรถ 205 มม. น้ำหนักรถประมาณ 1,030 – 1,040 กก. ส่วนรุ่น จิมนี่ เซียร่า   มาพร้อมตัวถังใหญ่กว่ารุ่นจิมนี่   ตั้งแต่ความยาว 3,550 มม. ความกว้าง 1,645 มม. ความสูง 1,730 ความสูงจากใต้ท้องรถ 210 มม. พร้อมเพิ่มความดุดันด้วยซุ้มล้อกันโคลนสีดำ น้ำหนักรถ 1,070- 1,090 กก. ทั้งสองรุ่นมีระยะฐานล้อ และความจุถังน้ำมันเท่ากัน โดยระยะฐานล้อ 2,250 มม. และความจุถังน้ำมัน 40 ลิตร

ขุมพลังสำหรับตลาดญี่ปุ่นมีทั้งเครื่องยนต์เบนซิน 660 ซีซี ซูซูกิ รุ่น R06A 64 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 96 นิวตันเมตรที่ 3,500 รอบ/นาทีในรุ่นจิมนี่  และเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร K15B 102 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 130 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ/นาทีในรุ่น จิมนี่ เซียร่า  จับคู่กับระบบส่งกำลังเลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AllGrip part-time 4WD ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน Hill Descent

แม้ จิมนี่ และ จิมนี่ เซียร่า จะเป็นรถขนาดเล็ก แต่ ซูซูกิ ก็จัดเต็มระบบความปลอดภัยมาให้ไม่น้อย อาทิ  ระบบเตือน​การ​ออก​นอก​ช่องทางเดิน​รถ Lane Departure Warning ระบบช่วยเตือนการส่ายของตัวรถ Weaving Alert ระบบเตือนเครื่องหมายจราจร Traffic sign recognition ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ High Beam Assist และระบบเซ็นเซอร์ตรจจับวัตถุด้านหน้า DSBS (Dual Sensor Brake Support) พร้อมถุงลมนิรภัย 6 จุดรอบคัน เป็นต้น

ซูซูกิ จิมนี่ และ จิมนี่ เซียร่า ในบ้านเกิดญี่ปุ่นมีทั้งหมด 6 รุ่นย่อย (รุ่น XC, XL, XG ) เริ่มต้น 1,458,000 – 1,841,400 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 438,000 – 552,000 บาท  (ไม่รวมภาษีของเมืองไทย) ส่วน Jimny Sierra มีทั้งหมด 4 รุ่นย่อย (รุ่น JC, JL) เริ่มต้น 1,760,400- 2,019,600 เยน หรือราว 529,000 – 607,000 บาท (ไม่รวมภาษี)

ทันทีที่รถรุ่นนี้ถูกเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่น ได้รับกระแสเรียกร้องให้ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) นำรถรุ่นนี้มาเปิดตลาดในประเทศไทยจากแฟนๆไม่น้อย  แต่เนื่องจากรถรุ่นนี้เป็นรถเฉพาะกลุ่มที่มีตลาดไม่ใหญ่โตนัก หากซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) นำรถรุ่นนี้มาเปิดตลาดในประเทศไทยจริง มี 2 วีธีที่จะได้เห็นรถรรุ่นนี้ในโชว์รูม คือวิธีแรกอาจจะใช้วิธีการนำเข้าทั้งคันจากญี่ปุ่น แต่ถ้าใช้วิธีนี้เมื่อผ่านกระบวนการกาษีในไทย รถรุ่นนี้ก็จะมีราคาสูงลิ่วเกิน 1 ล้านบาทแน่นอน ฉะนั้นกลายเป็นเรื่องยากในการทำตลาด หรือ วิธีที่สอง หากซูซูกิ โยนหินถามทางแล้วพบว่า รถรุ่นนี้มีโอกาสแจ้งเกิดในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้  ซูซูกิ บริษัทแม่ในญี่ปุ่นอาจจะสั่งเปิดไลน์การผลิตใน ไทย หรือใน อินโดนีเซีย ก็เป็นได้ ซึ่งวิธีหลังนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก

 

Leave A Reply

Your email address will not be published.